ข่าวทั้งหมด

ส่วนกิจการเพื่อสังคมนำคณะผู้บริหารสร้างแรงบันดาลใจตามแนวพระราชดำริฯ เพื่อพัฒนาต้นแบบสร้างรายได้-ตอบแทนแผ่นดิน...
Rasa Prasertsri

ส่วนกิจการเพื่อสังคมนำคณะผู้บริหารสร้างแรงบันดาลใจตามแนวพระราชดำริฯ เพื่อพัฒนาต้นแบบสร้างรายได้-ตอบแทนแผ่นดิน...

เมื่อวันที่ 23-26 มกราคม 2561 ส่วนกิจการเพื่อสังคม ได้จัดโครงการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพบุคลากรมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒด้านบริการวิชาการแก่สังคม : กิจกรรมที่ 2 กิจกรรมสัมมนาโครงการสร้างแรงบันดาลใจผู้ปฏิบัติงานผ่านแนวทางการพัฒนาทางเลือกในการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน วัตถุประสงค์ของการศึกษาดูงานในครั้งนี้ รศ.ดร.ชาญวิทย์ เทียมบุญประเสริฐ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนากิจการเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนา และต้องการให้คณะผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับเรื่องการบริการวิชาการแก่ชุมชนเพื่อผลักดันนโยบายการบริการวิชาการแก่ชุมชนที่เป็น 1 ใน 4 ภารกิจหลักของมหาวิทยาลัย และยังสอดคล้องกับแผนงบประมาณของโครงการส่งเสริมและพัฒนาความสามารถของชุมชนฯ พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพในการทำงานของคณะผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  และน้อมนำมาเป็นหลักในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จึงได้เชิญคณะผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานเข้าร่วมการศึกษาดูงาน ณ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ ตำบลเทิดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย (ปางมะหัน)

โดยได้เข้าศึกษาดูงานบริษัท นวุติ จำกัด ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และภาคเอกชน ๖ หน่วยงาน สำหรับการทำงานของ “นวุติ” เป็นบริษัทต้นทางที่ดูแลเรื่องของการเพาะปลูก และการดูแลผลผลิตป้อนสู่โรงงานแปรรูปของแม่ฟ้าหลวง เริ่มต้นจากพลิกชีวิตชาวบ้านที่ยากจนอย่างถึงที่สุด ที่บุกรุกทำลายป่าต้นน้ำ เพื่อทำไร่เลื่อนลอยปลูกพืชเชิงเดี่ยว และปลูกพืชที่ใช้ทำยาเสพติดอย่าง “ฝิ่น” ในพื้นที่ดอยตุง ได้หันกลับมาปลูกป่าที่สามารถ “เก็บกิน ขายได้” นั่นก็คือ แมคคาเดเมีย และกาแฟ ซึ่งสมเด็จย่าทรงนำเข้าพันธุ์จากต่างประเทศมาทดลองปลูกเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2532 ต้นแมคคาเดเมีย เป็นไม้ยืนต้นที่มีผลเก็บมาแปรรูปได้ เหมาะกับการปลูกเป็นป่าเศรษฐกิจ เพราะมีต้นที่แข็งแรง มีใบสีเขียวตลอดทั้งปี ส่วนรากก็ยึดหน้าดินได้ดี มีอายุยืน สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิต คือ ลูกแมคคาเดเมียได้ 80–100 ปี ถือเป็นการจ้างงานให้กับชาวบ้านอย่างยั่งยืนในระยะยาว กับการนำมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม ส่วนบริเวณโคนต้นมีการส่งเสริมการปลูกกาแฟควบคู่กันไป ซึ่งทั้งหมดนั้นได้ช่วยสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้ตลอดทั้งปี...และพัฒนาจนเป็นต้นแบบธุรกิจเพื่อสังคมสร้างรายได้-ตอบแทนแผ่นดิน...แก้ปัญหาความยากจนของคนในพื้นที่ ด้วยการส่งเสริมให้คนในชุมชนเลิกถางป่าปลูกข้าวโพด ทำไร่เลื่อนลอย แล้วหันมาช่วยงานปลูกป่าเศรษฐกิจอย่างแมคคาเดเมีย และกาแฟ เพื่อสร้างรายได้เลี้ยงดูครอบครัว...

ปัจจุบัน โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ได้รับการยกย่องในระดับนานาชาติให้เป็นต้นแบบการพัฒนาทางเลือกเพื่อลดการปลูกพืชเสพติดและแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในต้นแบบของธุรกิจเพื่อสังคม ที่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาสังคมและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมได้สำเร็จ

อีกทั้งยังเข้าชมหอแห่งแรงบันดาลใจ ซึ่งภายในหอแห่งแรงบันดาลใจ  จะเป็นการแสดงนิทรรศการแบบสื่อผสมผสาน ที่ถ่ายทอดพระราชจริยวัตรในการทำงาน และพระวิริยะอุตสาหะที่มุ่งพัฒนาความเป็นอยู่ของคนไทย  เพื่อให้ผู้เข้าชมได้เกิดแรงบันดาลใจ ยึดมั่นในความดี คิดดี ประพฤติปฏิบัติดีเท่าที่ตนเองจะสามารถทำได้ เพื่อพลังแห่งความดีนี้ จะได้ผลิดอกออกผลบานสะพรั่งไปทั่วทุกหนทุกแห่ง และบันดาลความชุ่มชื่นผาสุกไปทั่วแผ่นดินไทย

ต่อจากนั้นยังนำชาวคณะเดินทางไปยังสำนักงานโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ ตำบลเทิดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย (ปางมะหัน) เพื่อไปดูฝายการเกษตร และแม่พันธุ์สุกรและลูกสุกร พันธุ์เหมยฟาน ที่บ้านปางมะหัน ซึ่งถนนหนทางค่อนข้างลำบาก  จากในอดีตดอยตุงนั้น เป็นพื้นที่ปลูกฝิ่นที่ใหญ่ที่สุดในบริเวณสามเหลี่ยมทองคำมีการทำไร่เลื่อนลอย แผ้วถางป่า ลักษณะพื้นที่เป็นภูเขาหัวโล้น มีแต่ความแห้งแล้ง จนกระทั่งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีความประสงค์จะทำโครงการปลูกป่าเพื่อคืนกำไรให้แก่สังคม ขยายผลการพัฒนาจากโครงการพัฒนาดอยตุง มายังโครงการปลูกป่าปางมะหัน ในพื้นที่ 14,015 ไร่ ใน ต.เทอดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง ตามแนวชายแดนไทย - พม่า ทั้งนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้นำประสบการณ์การพัฒนาจากดอยตุงและโครงการขยายผลที่สหภาพพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักการ "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" "การมีส่วนร่วม" "การปลูกคน ปลูกป่า" ตลอดจน "การปลูกป่าในใจคน" ตามแนวพระราชดำริมาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน และยังนำข้อผิดพลาดของวิธีการปลูกป่าที่ดอยตุงในอดีตมาปรับปรุงการปลูกป่าในพื้นที่โครงการนี้ จนกลายเป็นวิธีการ "ปลูกป่าแบบปลูกเสริม" ซึ่งทำให้ป่าโตเร็วและคงความหลากหลายทางชีวภาพไว้ได้ และยังได้ปรับปรุงวิธีการอย่างต่อเนื่อง โดยวิธีการ "ปลูกป่าแบบไม่ปลูก" ตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา ดำเนินการทดลองปลูกชาน้ำมันในพื้นที่ปลูกป่าบ้านปางมะหันและบ้านปูนะอีกด้วย

Previous Article โครงการมหกรรมศิลปวัฒนธรรม สานสัมพันธ์ไทย-จีน ครั้งที่ 5
Next Article อบรมอาชีพช่างตัดผมชายสร้างรายได้สู่ชุมชน
Print
2226