มหาวิทยาลัยมีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ โดยมี การดําเนินงานตามพันธกิจหลัก 4 ด้าน คือ ด้านการเรียนการสอน ด้านการวิจัย ด้านการบริการวิชาการแก่ชุมชน และสังคมและด้านทํานุบํารุงศิลปวัฒนธรรม ซึ่งมหาวิทยาลัยได้ให้ความสําคัญภารกิจด้านการบริการวิชาการแก่ชุมชนและสังคมอย่างมาก เพราะมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมีความมุ่งหวังที่จะทําให้มหาวิทยาลัยเป็น มหาวิทยาลัยรับใช้สังคมมหาวิทยาลัยได้กําหนดเป็นแผนปฏิบัติการยุทธศาสตร์ขึ้นหรือที่เรียกว่า “Super Strategic Action Plan (SSAP) โดยยุทธศาสตร์ที่ 3 (SSAP 3) ได้กําหนด ไว้ให้สร้างองค์ความรู้และพัฒนาโครงการบริการวิชาการที่มีคุณภาพเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าประสงค์ 2 ประการ คือ

 

1.       สร้างงานบริการวิชาการที่สอดคล้องกับความต้องการร่วมกับชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน

2.       มีระบบการบริหารจัดการโครงการบริการวิชาการแก่ชุมชนที่มีประสิทธิภาพ

 

          ส่วนกิจการเพื่อสังคม เป็นหน่วยงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒที่รับผิดชอบพันธกิจด้านการบริการวิชาการแก่ชุมชนของมหาวิทยาลัย อยู่ภายใต้การดูแลของรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนากิจการเพื่อสังคม มีการดำเนินงานที่เน้นการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน โดยมหาวิทยาลัยเป็นผู้นำองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ ไปประยุกต์ใช้กับชุมชนไปถ่ายทอดและแก้ปัญหาให้กับชุมชนจัดกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งในปี พ.ศ. 2562 มีผลการดำเนินงานสรุปผลเป็นไปตามภารกิจงาน 3 ด้าน  ได้แก่

 

          ภารกิจที่ 1  การให้บริการวิชาการแก่สังคมตามนโยบาย 1 จังหวัด 1 มหาวิทยาลัย

โดยการจัดทำโครงการต้องมีการบูรณาการร่วมกับพันธกิจด้านการเรียนการสอน การวิจัย และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาชุมชนและสังคม เพื่อให้เกิดผลกระทบอย่างยั่งยืนตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยเน้นการพัฒนา 3 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม (การศึกษา, สุขภาพ และวัฒนธรรม) และด้านสิ่งแวดล้อม

 

          ภารกิจที่ 2 มีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกในการพัฒนาชุมชนและสังคม

1) ระดับนานาชาติ ได้เข้าร่วมเครือข่ายความร่วมมือเรื่องพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม (Engagement) กับมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งมหาวิทยาลัยมีการดำเนินการไปแล้วบางส่วน

          2) ระดับประเทศ มีการเปลี่ยนแปลงหน่วยงานภาคธุรกิจที่ดำเนินการจากธุรกิจทั่วไปเป็นธุรกิจเพื่อสังคม โดยมีหลักสูตรกิจการเพื่อสังคมในสถานศึกษา หน่วยงานในองค์กรที่ดำเนินการธุรกิจอยู่แล้ว เข้าอบรมหลักสูตรธุรกิจเพื่อสังคมทำให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงการผลิต การซื้อขายที่เป็นประโยชน์กับสังคมสูงสุดและสามารถพัฒนาชุมชนให้ดีขึ้น ตลอดจนการพัฒนานิสิตในประเทศให้มีจิตอาสาและมีพื้นฐานในเรื่องของธุรกิจเพื่อสังคม

          3) ระดับพื้นที่ มีเครือข่ายการเรียนรู้ธุรกิจเพื่อสังคม โดยร่วมมือกับ อบจ. อบต. อสม. รพ.สต. ผู้นำชุมชนและชาวบ้าน, มูลนิธิหัวใจอาสา, ศูนย์คุณธรรม (องค์กรมหาชน), สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, กองทุนเวลาเพื่อสังคม, สมาคมนักสร้างสุขภาวะองค์กร, สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.), สำนักงานป้องกันการทุจริตภาคประชาสังคมและการพัฒนา

เครือข่าย (ป.ป.ช.), มูลนิธิบุคคลพอเพียง, สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 4, สหวิริยา, บริษัท เบทาโกร จำกัด และสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยและอื่นๆ

 

          ภารกิจที่ 3 พัฒนาทรัพยากรมนุษย์สู่จิตอาสา เพื่อรับใช้สังคม

ในการดำเนินงานโครงการบริการวิชาการแก่สังคมนั้น ตัวจักรสำคัญที่ใช้ในการขับเคลื่อน คือ ทรัพยากรมนุษย์ เพราะในการขับเคลื่อนชุมชนนั้น คน ต้องมีแรงบันดาลใจในการปฏิบัติงาน เนื่องจากต้องเสียสละเวลา เสียสละความสบายในการช่วยเหลือผู้อื่น  การสร้างแรงบันดาลใจในการปฏิบัติงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่เพียงแต่ผู้ปฏิบัติเท่านั้น ผู้รับการบริการเองก็มีความจำเป็นในการสร้างแรงบันดาลใจด้วย เพราะชาวบ้านหรือชุมชนต้องร่วมกันขับเคลื่อนพัฒนาพื้นที่ของตนเอง ให้เกิดความยั่งยืน

 

          ในปี 2562 นี้ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้อนุมัติโครงการบริการวิชาการแก่ชุมชนทั้งสิ้น 131 โครงการ โดยมหาวิทยาลัยกำหนดพื้นที่หลักอยู่ที่ 2 จังหวัด คือ จังหวัดสระแก้ว และจังหวัดนครนายก และขยายผลไปที่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก, อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย และอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ได้โดยใช้ที่ของ มศว เป็นฐาน ส่วนกิจการเพื่อสังคมได้จัดพิมพ์หนังสือรายงานประจำปีฉบับนี้ขึ้น เพื่อเผยแพร่ผลงานการบริการวิชาการแก่ชุมชนของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดทำโครงการบริการวิชาการแก่ชุมชนต่อไป

 

 
 

 

 

 
 
 

     รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนากิจการเพื่อสังคม